อมรมเชิงปฏิบัติการ

กลุ่มละครชุมชน “กั๊บไฟ” เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ใช้กระบวนการละครเป็นเครื่องมือในการทำงาน นอกจากนี้แล้วยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจในรูปแบบการอบรมเชิงปฏิบัติการอื่นอีกที่เน้นการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้เข้าร่วม ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายหรือความคาดหวังร่วมกัน

พันธกิจ 1
เพื่อเสริมพลัง และสนับสนุนศักยภาพที่มีอยู่ของบุคคลหรือชุมชนด้วยสื่อการละคร สื่อศิลปะและวัฒนธรรม กิจกรรมทักษะชีวิต หรือสื่อทางเลือกที่สร้างสรรค์เหมาะสม

ประเภท
1. ละครชุมชน Community theatre
2. ทักษะชีวิต Life skills
3. อบรมฯ อื่นๆ Others Training

 

ละครชุมชน Community theatre

การฝึกละครชุมชนเป็นการฝึกปฏิบัติที่ผู้เข้าร่วมจะได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนและฝึกฝนทักษะความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับศิลปะการแสดงละครรูปแบบต่างๆ นอกจากนี้แล้วยังได้เรียนรู้เรื่องราวที่ใกล้ตัว เช่น ตนเอง ครอบครัว ชุมชน จนถึงประเด็นสนใจที่มีผลกระทบต่อสังคม การฝึกอบรมฯเน้นกระบวนการการมีส่วนร่วม ที่ต้องทำงานร่วมกันภายในกลุ่ม ฝึกการทำงานเป็นทีม เรียนรู้บทบาทหน้าที่การเป็นผู้นำผู้ตามที่ดี ฝึกการกล้าแสดงออก ความคิดสร้างสรรค์ ฝึกสมาธิ จินตนาการ ความเชื่อ ฯลฯ ผู้เข้าร่วมจะได้เรียนรู้การหาข้อมูลเพื่อการจัดทำเป็นบทละคร ทุกคนจะร่วมมือกันสร้างสรรค์ผลงาน เป็นหนึ่งเดียว และฝึกการประสานงานกับชุมชนเพื่อจัดแสดงรณรงค์เรื่องราวที่เป็นประโยชน์ในชุมชนได้ด้วยตนเอง รวมถึงฝึกการสรุปประเมินผล ทั้งหมดนี้อาจไม่ใช่เพียงเพื่อการเป็นนักแสดงละครในชุมชนเท่านั้น แต่ผลที่เกิดขึ้นตามมาอาจทำให้ผู้เข้าร่วมบางคนค้นพบความถนัดหรือสิ่งที่ตนเองสนใจ หรือความต้องการพัฒนาศักยภาพด้านอื่นก็เป็นได้ และที่สำคัญการฝึกละครโดยเชื่อมโยงกับชุมชน จะทำให้ผู้เข้าร่วมมีความเข้าใจในตนเองชีวิตของมนุษย์สังคมหรือเข้าใจในโลกมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่สิ่งที่ดีงาม อื่นๆ ตามมา การฝึกแต่ละครั้งจะจำกัดไม่เกิน 15-30 คน และขึ้นอยู่หลักสูตรหรือระยะเวลาที่ฝึกฝน(3 วันขึ้นไป) ทางกลุ่มแบ่งประเภทของงานการอบรมฯ ละครชุมชน ดังนี้

ละครชุมชนสำหรับเด็ก-เยาวชน
ละครชุมชนสำหรับผู้ปฏิบัติงาน
ละครชุมชนสำหรับชาวบ้าน และบุคคลทั่วไป
ทักษะละครรูปแบบต่างๆ
(ละครใบ้ / ละครหุ่น / ละครสำหรับเด็กพิเศษ)

 
   
 

ทักษะชีวิต Life skills

ทักษะชีวิตเป็นกิจกรรมทางเลือกหนึ่งของกลุ่มที่ออกแบบมาเฉพาะเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้แลก เปลี่ยนในแต่ละประเด็น หลังจากการฝึกอบรมฯ ผู้เข้าร่วมจะเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น มีความรู้ มีทัศนคติ มีทักษะประสบการณ์หรือมีทางเลือกในการใช้ชีวิตที่เพิ่มมากขึ้น การเห็นคุณค่าในตนเองและเพื่อนมนุษย์ รวมถึงการรู้จักหน่วยงานที่สามารถช่วยเหลือเมื่อมีปัญหาหรือต้องการติดต่อ การฝึกอบรมฯ จะเรียนรู้ผ่านเครื่องมือ เช่น เกม ศิลปะ บทบาทสมมุติ เหตุการณ์จำลอง สื่อ Multimedia ในกระบวนการจะมีการทำงานเดี่ยว-กลุ่ม การบรรยาย การสาธิต การสนทนาแลกเปลี่ยนและการนำเสนองานต่อกลุ่มใหญ่ และเน้นการมีส่วนร่วม สามารถเข้าร่วมได้ทุกวัย และทุกสาขาอาชีพ จำนวนผู้เข้าร่วม 15 – 60 คน ระยะเวลาขี้น อยู่กับแต่ละหัวข้อ ได้แก่

ตนเอง, เพื่อน, ครอบครัว, ชุมชน
ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น
สิทธิ (มนุษยชน, มิติหญิงชาย, เด็ก)
ความรุนแรง และสันติภาพ
การศึกษาและอาชีพ
โลกาภิวัตน์
การย้ายถิ่นและแรงงานย้ายถิ่น
การค้ามนุษย์
ประเด็นใกล้ตัว

นอกจากนี้ทางกลุ่มยังมีหลักสูตรทักษะชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความตระหนักรู้เพื่อป้องกันภัยค้ามนุษย์สำหรับเด็ก ได้แก่ หลักสูตร “การผจญภัยในโลกกว้าง” (Children’s passport) และสำหรับผู้ทำทำงานคุ้มครองป้องกันเฝ้าระวัง ได้แก่ “ชุมชนฮักละอ่อนและแม่หญิง” และ”โฮงเฮียนฮักละอ่อน”

 
   
 

อบรมฯ อื่นๆ Other Training

เนื่องจาก “สื่อระดับบุคคล” ยังคงเป็นเครื่องมือที่สำคัญและยังเป็นที่ต้องการของคนทำงานพัฒนา โดยเฉพาะ ครู-อาจารย์ เจ้าหน้าที่ราชการ คนทำงานองค์กรพัฒนาเอกชน หรือชาวบ้านในชุมชน เพราะช่วยสร้างเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้การสร้างพื้นที่สื่อภาคประชาชนหรือสื่อทางเลือกที่หลากหลาย ดังนั้นทางกลุ่มจึงได้ออกแบบและพัฒนาหลักการสูตรการอบรมอื่นๆ ที่นอกเหนือจากละครชุมชนและทักษะชีวิต ทั้งนี้เพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายของกลุ่มเป้าหมายที่ทำงาน และความต้องการของหน่วยงานต่างๆ ที่ร้องขอการบริการจากกลุ่ม แต่ละหลักสูตรกิจกรรมจะมีกลุ่มเป้าหมาย วัตถุประสงค์ วิธีการ หรือระยะเวลาที่แตกต่างกันไป เช่น

ชุมชนสื่อสาร Popular Communication
การเล่าเรื่องผ่านสื่อศิลปะสร้างสรรค์
การสร้างสรรค์นิทานด้วยตัวเอง
การเล่าเรื่องผ่านภาพถ่าย
อื่นๆ


การใช้สื่อเพื่อการสื่อสารระดับชุมชน (ชุมชนสื่อสาร)
(POPULAR COMMUNICATION WORKSHOP)

การสื่อสารนับว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญสำหรับการทำงานร่วมกับชาวบ้านหรือชุมชน เมื่อผู้ปฏิบัติงาน (Community Organizer) เข้าไปจัดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับชาวบ้านในชุมชน จะช่วยให้เกิดการทำงานเพื่อ สร้างความเข้าใจและความตระหนัก การมองสถานการณ์ปัญหาที่ชุมชนเผชิญ และสามารถนำไปสู่สู่แผนปฏิบัติการณ์ของชุมชนร่วมกัน การใช้เครื่องมือสื่อหรือสิ่งที่มีอยู่ที่อยู่รอบๆตัวหรือ วัสดุทรัพยากรจากท้องถิ่นมาใช้ประกอบกิจกรรม หรือการนำเทคนิควิธีการอื่นๆ มาใช้ร่วมกัน เช่น เกม บทบาทสมมุติ เพลง ศิลปะ จะช่วยให้กระบวนการน่าสนใจและมีพลังหรือมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เป็นต้น ดังนั้น “ชุมชนสื่อสาร” หรือ “Popular communication” จึงเป็นเครื่องมือของคนทำงานกับชุมชนที่ดีทางเลือกหนึ่ง

สื่อศิลปะเพื่อการสื่อสาร
ศิลปะนับว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ช่วยให้มนุษยชาติได้แสดงออกซึ่งความรู้สึกนึกคิด ซึ่งบางครั้งไม่สามารถถ่ายทอด ด้วยการพูดเพียงอย่างเดียว ศิลปะจึงเป็นทางออกวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้ถ่ายทอดออกมาในหลายมิติที่ลึกล้ำทั้งจินตนาการ ที่กว้างไกลและจิตวิญญาณความปิติเรื่องราวเหตุการณ์ที่สำคัญของชีวิตมนุษย์ ดังนั้นกิจกรรมอบรมฯ “สื่อศิลปะเพื่อการสื่อสาร” หรือการเล่าเรื่องผ่านสื่อศิลปะอย่างสร้างสรรค์ จึงเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่กลุ่มนำมาใช้กับการ ทำงาน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้เล่าเรื่องราวของตนเองหรือชุมชน ผ่านการทำงานศิลปะโดยในกระบวนการ จะดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไปทีละขั้นตอน กิจกรรมจะช่วยให้เกิดการทบทวนความรู้สึกนึกคิด เรื่องราวหรือเป้าหมาย ในชีวิต การมองโลกด้วยความเป็นจริงและอย่างสร้างสรรค์ และยังช่วยให้เกิดการคิดค้นหรือการปรับปรุงแก้ไขหรือช่วย ในการฟื้นฟูเยียวความรู้สึกที่ได้ระบายออกผ่านงานศิลปะที่ตนเองทำ ซึ่งผลงานที่ออกมาจะเต็มเปี่ยมไปด้วยความ มีชีวิตและเรื่องราวที่มีค่ามากกว่าการมองในแง่สวยสมจริง

การสร้างสรรค์นิทานด้วยตัวเอง
(สื่อนิทานเพื่อการสื่อสารสำหรับเด็ก)

อบรมเชิงปฏิบัติการ “การสร้างสรรค์นิทานด้วยตัวเอง” หรือ “สื่อนิทานเพื่อการสื่อสารสำหรับเด็ก” เป็นกิจกรรมหนึ่งที่กลุ่มจัดกระบวนการสำหรับเด็กในชุมชนได้มีโอกาสเล่าเรื่องราววิถีชีวิต ความรู้สึกหรือความเชื่อที่บรรพบุรุษถ่ายทอดจิตวิญญาณของความเป็นชาติพันธุ์ของตนสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน ผ่านการเล่าเรื่องด้วยสื่อนิทาน ผ่านความรู้ความทรงจำที่ได้รับ และกิจกรรมที่เด็กจะสามารถสร้างสรรค์ ผลงานนิทานขึ้นมาใหม่ได้ด้วยตัวเอง และการถ่ายทอดผลงานเป็นงานเขียนและงานศิลปะวาดรูปภาพประกอบ จากฝีมือของเด็ก รวมถึงถ่ายทอดเรื่องราวเป็นการแสดงละครประกอบนิทานที่มีความสนุกสนานหรือความบันเทิง ที่แฝงเป็นคติเตือนใจหรือข้อคิดต่างๆ กิจกรรมนี้จะช่วยให้เด็กหรือผู้เข้าร่วมได้ฝึกการคิดสร้างสรรค์ การใช้จิตนาการ การคิดเป็นเหตุเป็นผล การทำงานเป็นทีม ความกล้าแสดงออก เป็นต้น การอบรมฯใช้เวลา 3 วัน แต่ละวันทีมงาน จะมีเกมการเรียนรู้ที่สนุกสนานเพลิดเพลินให้เด็กๆ

การเล่าเรื่องผ่านภาพถ่าย
เป็นการอบรมฯที่อาศัยเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร นั่นคือ กล้องถ่ายภาพ และเทคนิคการล้างอัดภาพ กล่าวได้ว่าปัจจุบันหลายครอบครัวหรือหลายจะมีกล้องถ่ายรูปเป็นของตนเองไม่ว่าจะเป็นระบบ ที่ใช้ฟิล์มหรือระบบดิจิตอล ซึ่งขั้นตอนสุดท้ายมักลงเอยด้วยการบันทึกภาพเป็นกระดาษเก็บไว้เป็นภาพ แห่งความทรงจำในเหตุการณ์ที่ผ่านมา ภาพถ่ายเพียงหนึ่งภาพออาจแทนความหมายได้หลายร้อยหลายพันคำ เนื่องจากเทคโนโลยีการถ่ายภาพก็เป็นสื่อหนึ่งที่สามารถเล่าเรื่องราวของความเป็นจริงและสร้างพลังอำนาจให้กับ ตนเองและชุมชน ที่ผ่านมาการถ่ายภาพมักจะเป็นผู้ที่มาจากที่อื่นเข้ามาสัมภาษณ์และถ่ายรูปแล้วนำออกไปเผยแพร่ บางครั้งก็มีความผิดเพี้ยนหรือไม่เป็นความจริง ทางกลุ่มเชื่อว่าชุมชนเองก็มีศักยภาพที่จะสามารถกระทำได้เช่นกัน ภาพหรือผลงานที่ออกมาจะมีความเป็นจริงและเป็นสิ่งที่ชุมชนต้องการเผยแพร่หรือต้องการสื่อสารให้กับผู้อื่นได้รับรู้ ฉะนั้นกระบวนการอบรมของกลุ่มนี้จะมีมิติของการเคารพในสิ่งที่ชุมชนเชื่อหรือต้องการ ในการอบรมฯ ผู้เข้าร่วม จะได้เรียนรู้การจัดองค์ประกอบ เทคนิคพื้นฐานที่จำเป็น และการตีความและให้ความหมาย การถ่ายทอดเรื่องราว จะเริ่มจากตนเองไปจนถึงภาพเรื่องราวของชุมชนที่ตนต้องการจะสื่อสาร และการจัดนิทรรศการภาพถ่ายเช่นในชุมชน ตนเองหรือสาธารณชน เป็นต้น

อื่นๆ
นอกจากการอบรมฯ ที่กล่าวมาแล้วทางกลุ่มยังสามารถออกแบบการอบรมประเภทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้อีก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเป้าหมายที่ต้องการ เช่น นันทนาการที่สร้างสรรค์ ฯลฯ

 

 

HOME    |     ABOUT US    |    NEWS    |     ACTIVITIES     |     CONTACT US     |     รับซื้อแหวนเพชร

  Copyright©2011.Gabfai. All rights. Reserved